อาหารลดความดัน
อาหารบางอย่าง หากเลือกรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ อาจจะช่วยลดภาวะอาการของโรคความดันโลหิตสูงลงได้บ้าง ตัวอย่างดังที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ตัวอย่างที่ 1 เป็นกรณีของส่วนประกอบในไข่ขาว และตัวอย่างที่ 2 เป็นกรณีของหัวผักกาดแดงบีทรูท อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งสองกรณีตัวอย่าง อาจจะเป็นสิ่งที่ทำและนำมาปรับใช้ได้ง่ายในวิถีชีวิตปัจจุบัน แต่นักวิจัยก็ยังคงต้องติดตาม และศึกษาเพิ่มเติมถึงผลการลดความดันโลหิตโดยสารอาหารธรรมชาติที่นำมาใช้ในกรณี “ผู้ป่วย” ที่แตกต่างจาก “ผู้คนปกติ” อยู่ต่อไป
ตัวอย่างที่ 1
ส่วนประกอบในไข่ขาว [1] อาจช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ เป็นงานวิจัยที่ ดร.ฉีเป่ง ยู หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยจี๋หลิน แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนทำร่วมกับคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคลมสัน สหรัฐอเมริกา งานวิจัยได้ถูกนำเสนอในงานประชุมระดับชาติของสมาคมเคมีอเมริกาครั้งที่ 245 (The 245th National Meeting and Exposition of the American Chemical Society - ACS) ที่นิว ออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทีมวิจัย [2] พบว่า “RVPSL” ซึ่งก็คือ เป็ปไทด์หรือส่วนหนึ่งของโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในไข่ขาว มีประสิทธิภาพยับยั้งการทำงานของ Angiotensin-converting-enzyme (ACE) หรือสารที่ผลิตในร่างกายและทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โดยเมื่อให้ RVPSL ในหนูทดลองที่มีความดันโลหิตสูงพบว่า สามารถลดความดันโลหิตได้โดยไม่พบความเป็นพิษ ผลการออกฤทธิ์ที่ได้เทียบเท่ากับการใช้ยา Captopril ในขนาดต่ำๆซึ่งยาดังกล่าวนี้เป็นยาที่แพทย์ใช้รักษาคนไข้โรคความดันโลหิตสูง และออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตโดยยับยั้ง ACE
แม้ว่าการเตรียม “เป็ปไทด์ RVPSL” ในงานวิจัยข้างต้นนี้จะทำที่อุณหภูมิ 200 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 93 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ต่ำกว่าที่ใช้ในการทำอาหารทั่วไป แต่เมื่ออ้างอิงจากบทความหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร the ACS Journal of Agricultural and Food Chemistry ที่แสดงว่า ไข่ขาวที่ผ่านการทอดที่อุณหภูมิสูงให้ผลในการลดความดันโลหิตสูงได้มากกว่าไข่ที่ต้มที่อุณหภูมิ 212 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 100 องศาเซลเซียสเสียอีก ดร.ฉีเป่ง ยู จึงคาดว่าประโยชน์ของไข่ขาวในการลดความดันโลหิตสูงยังคงมีอยู่หลังผ่านการปรุงอาหารแล้ว
ดร.ยู เชื่อว่า เป็บไทด์ไข่ขาวที่ได้ทั้งจากไข่หรืออาหารเสริมอื่นๆสามารถใช้เป็นตัวช่วยลดความดันโลหิตที่ได้ผล แต่ก็ควรอยู่ภายใต้การแนะนำของบุคลากรด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเรื่องไข่ขาวลดความดันโลหิตสูงของทีมวิจัยของ ดร.ยู นี้ ยังควรจะต้องติดตามผลในระยะยาวกันต่อไปอีก
ตัวอย่างที่ 2
บีทรูท [3] สามารถใช้ลดความดันโลหิตได้ ทีมนักวิจัยของโรงเรียนแพทย์ลอนดอน (Barts Health NHS Trust and The London Medical School) พบว่า หลังจากผู้ป่วย 15 รายได้ดื่มน้ำคั้นหัวผักกาดแดงบีทรูท 1 แก้ว ประมาณ 250 มิลลิลิตร หรือ 8 ออนซ์ ไปแล้วนาน 3–6 ชั่วโมง มีความดันโลหิตลดลงถึง 10 มิลลิเมตรปรอท หรืออาจลดลงจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งผลดังกล่าวนี้รายงานไว้ในวารสาร “โรคความดันโลหิตสูง” ของสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตามการดื่มน้ำผักนี้ อาจทำให้น้ำปัสสาวะเป็นสีชมพู เนื่องจากหัวผักกาดแดงบีทรูทมี “สารไนเตรท”ที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและช่วยให้การไหลเวียนเลือดสะดวกขึ้น ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงมักจ่ายยาที่มีไนเตรทเพื่อบรรเทาอาการให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหลายรายเช่นกัน ปกติแล้วสารดังกล่าวนี้จะมีอยู่ตามธรรมชาติในดิน ซึ่งพืชผักต่างๆจะดูดซึมเข้าไปทางรากเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต
นักวิจัย ดร.อมิตา อาลูวาเลีย [4] คาดหวังว่า การรับประทานผักที่มีไนเตรทสูงอย่างผักใบเขียว หรือหัวผักกาดแดงบีทรูท จะช่วยให้สุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดมีความแข็งแรงมากขึ้น
ขณะที่โปรเฟสเซอร์ ปีเตอร์ ไวส์เบิรก ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของมูลนิธิโรคหัวใจของอังกฤษ ก็ได้แสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ผลการวิจัยช่วยสนับสนุนคำแนะนำที่ว่า เราควรรับประทานผักใบเขียวให้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในระยะยาว นักวิจัยยังคงต้องติดตามและศึกษาเพิ่มเติมถึงผลการลดความดันโลหิตโดยการรับประทานพืชผักที่อุดมด้วยสารไนเตรทในผู้ป่วยต่อไป
แหล่งอ้างอิง
[1] เดลินิวส์ออนไลน์. ไข่ขาวดีต่อคนป่วยความดัน: ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์. [ออนไลน์] 15 เมษายน 2556 เวลา 00:00 น. [เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2556]; http://www.dailynews.co.th/article/822/197005
[2] Hindustantimes. Egg white protein may help reduce blood pressure. [Online] 11 April 2013 [Cited 16 April 2013]; http://www.hindustantimes.com/Entertainment/Wellness/Egg-white-protein-may-help-reduce-blood-pressure/Article1-1040811.aspx
[3] BBC News – Health. Beetroot 'can lower blood pressure: BBC News. [Online] 16 April 2013 Last updated at 00:49 GMT [Cited 16 April 2013]; http://www.bbc.co.uk/news/health-22152901
[4] ทีมข่าวการศึกษา ไทยรัฐออนไลน์. น้ำคั้นหัวบีทรู้ท ลดความดันได้ชะงัด: ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. [ออนไลน์] 22 เมษายน 2556 เวลา 08:00 น. [เข้าถึงเมื่อ 22 เมษายน 2556]; http://www.thairath.co.th/content/edu/340079
เอ๋ เอกระวี จินดารักษ์
ผู้รวบรวมข่าวคุณภาพชีวิต
30 เมษายน 2556