คนไทยดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น - เกาหลีใต้
นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) [1] กล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 ถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยไว้ว่า ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดอันดับโลก หรือมีอัตราการดื่มอยู่ที่ 30% ขณะที่ยุโรปและอเมริกาดื่มสูงถึง 80% โดย “เบียร์” เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คนไทยดื่มกันมากที่สุด รองลงมาคือ “สุราขาว/ สุรากลั่นชุมชน” และหากเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคเอเชียนั้น ไทยจัดว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 3 รองลงมาจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียรายได้ ค่ารักษาพยาบาล ความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และรวมถึงอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง นพ.ทักษพล เห็นว่าเพื่อการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ให้เป็นไปได้ดี ควรเน้นการตรวจคัดกรองประชากรตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดสุราเรื้อรังในผู้ที่มีปัญหาติดสุราขั้นรุนแรงได้
ข้อมูลระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2554 [2] พบว่า 1 ใน 3 รายของผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรเป็นผลพวงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย และเกือบครึ่งหนึ่งของคดีทำร้ายร่างกายมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง
รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี (Organization for Economic Co-operation and Development – OECD) [3] กล่าวถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า จากการสำรวจช่วงปี 2523 – 2551 พบว่าอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ข่าวล่าสุดจากไทยรัฐออนไลน์ ปี 2556 [4] เสนอว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยเฉพาะสุรากลั่นดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลก
ข้อคิดเห็น
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) [5] เริ่มพัฒนาฐานข้อมูลแอลกอฮอล์ระดับโลก (WHO Global Alcohol Database) ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวที่ใหญ่ที่สุด ใน ค.ศ.1996 เพื่อการรวบรวมข้อมูลรูปแบบต่างๆที่มีอยู่ในโลก เกี่ยวกับการบริโภคหรือใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำเนินการเชิงนโยบายระดับชาติของแต่ละประเทศ
จากการนำข้อมูลที่ปรากฏใน รายงานสถานการณ์แอลกอฮอล์ในระดับโลกของ WHO (WHO Global Status Report on Alcohol) ค.ศ.2004 ดังกล่าวนั้นมาจัดลำดับ พบว่า คนไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ปริมาณต่อคนต่อปี) เป็นอันดับที่ 42 ของโลก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาลำพังสุรากลั่น คนไทยบริโภคเครื่องดื่มประเภทนี้เป็นอันดับที่ 6 ของโลก
จะเห็นได้ว่าอันดับต่างๆที่จัดให้คนไทยหรือชาติต่างๆนั้น อาจมีอันดับที่แตกต่างกันไปแล้วแต่แหล่งข้อมูล ส่วนหนึ่งเป็นด้วยว่ากำลังศึกษาหาวิธีการในการปรับหน่วยนับระดับแอลกอฮอล์ที่ดื่มในแต่ละระดับบุคคลหรือแต่ชาติให้ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่ตรงกันให้ได้ก่อน
อย่างไรก็ตาม หากสามารถวัดหรือจัดอันดับ “การปฏิเสธที่จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ของคนไทยเทียบกับคนทั่วโลกได้ น่าจะเป็นข่าวคุณภาพชีวิตที่น่ายินดีกว่านี้
แหล่งอ้างอิง
[1] ข่าวสดออนไลน์. เผยคนไทยดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น-เกาหลีใต้: ในหนังสือพิมพ์มติชน. [ออนไลน์] [เข้าถึงเมื่อ 11 มีนาคม 2556]; http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1328532921&grpid=03&catid=03
[2] สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 (The smoking and drinking behaviour survey 2011). [ออนไลน์] 2554 [เข้าถึงเมื่อ 11 มีนาคม 2556]; http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/files/smokeRep54.pdf
[3] Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD. Health at a Glance: Asia/Pacific 2012. [Online] 2012 [Cited 2013 March 11]; http://www.oecd-ilibrary.org/sites/9789264183902-en/02/08/index.html;jsessionid=2pl2gk8km70n8.x-oecd-live-01?contentType=&itemId=/content/chapter/9789264183902-23-en&containerItemId=/content/book/9789264183902-en&accessItemIds=/content/book/9789264183902-en&mimeType=text/html
[4] ทีมข่าวการศึกษา ไทยรัฐออนไลน์. อึ้ง! คนไทยดื่มเหล้าอันดับ 5 ของโลก สิงห์อมควัน 11.5 ล้านคน: ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. [ออนไลน์] 8 กุมภาพันธ์ 2556 [เข้าถึงเมื่อ 11 มีนาคม 2556]; http://www.thairath.co.th/content/edu/325460
[5] WHO Global Status Report on Alcohol 2004. [online] [cited 2013 Mar 19]; http://www.who.int/substance_abuse/publications/alcohol/en/
เอ๋ เอกระวี จินดารักษ์
ผู้รวบรวมข่าวคุณภาพชีวิต
19 มีนาคม 2556