เฝ้าระวัง โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ
วิถีชีวิตและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน หรืออุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบริเวณใกล้ผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้น ทำให้เกิดโรคระบาดที่ไม่เคยมีมาก่อน และโรคระบาดที่เคยหายไปแล้วก็กลับมาให้ได้เห็นใหม่ รวมถึงพาหะนำโรคที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แสดงข้อมูลว่า ปัจจุบันมีโรคอุบัติใหม่กว่า 300 โรค โดย 2 ใน 3 ของโรคทั้งหมด เป็นการติดต่อกลายพันธุ์จากสัตว์สู่คน อย่างเช่น โรคไข้หวัดนก เป็นต้น จึงต้องมีการตื่นตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดหรือการติดต่อในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเตรียมพร้อมทางวิชาการ หรือการปลูกจิตสำนึกและใส่ใจรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น
ข้อมูลระบาดวิทยา นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการการศึกษาผลกระทบและการปรับตัวด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งประเทศไทย (Health and Climate Change Committee of Thailand: HCCT) ชี้ให้เห็นว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีผลต่อการเพิ่มจำนวนของพาหะนำโรคพวกแมลงมากที่สุด และส่วนใหญ่จะเป็นพาหะที่ทำให้เกิดโรคที่กรมควบคุมโรคประกาศเฝ้าระวังอยู่
13 โรคเฝ้าระวัง ที่ประกาศโดยกรมควบคุมโรค มีทั้งโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ ซึ่งอันอาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ได้แก่ 1. โรคไข้กาฬหลังแอ่น 2. โรคไข้เลือดออก 3. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา 4. โรคไข้หวัดนก 5. ไข้เหลือง 6. โรคชิคุนกุนยา 7. โรคมือเท้าปาก 8. โรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสซูอิส 9. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) 10. โรคทูลารีเมีย 11. โรคเมลิออยโดซิส 12. โรคลิชมาเนีย 13. โรควีซีเจดี หรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ราชบัณฑิต สาขาแพทยศาสตร์ ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวถึงภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของมนุษย์อ่อนแอลง รวมไปถึงปริมาณที่เพิ่มขึ้นของสัตว์นำโรค พาหะนำโรค การแพร่กระจายและการขยายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค และการมีโรคระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น โรคอุบัติใหม่จากเชื้อไวรัสโคโรนา ชนิดใหม่ เป็นเชื้อไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจคล้ายกับโรคซาร์ส แต่ยังไม่พบการระบาด แม้จะมีรายงานพบผู้ติดเชื้อนี้ 2 รายแล้วก็ตาม ส่วนโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำที่พบการระบาดในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ คอตีบ ทั้งที่โรคดังกล่าวนี้หายไปจากประเทศไทยมานานกว่า 17 ปีแล้ว
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ยังได้แสดงความเป็นห่วงในกรณีที่คณะกรรมการยาแห่งชาติเตรียมถอดยาโอเซลทามิเวียร์ออกจากยาบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากเกรงว่าหากว่ามีผู้เจ็บป่วยจะกระทบต่อการได้รับยารักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) พบมีการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 จากคนสู่คน โดยไม่มีสัตว์ปีกป่วยหรือแสดงอาการนำมาก่อน ต่างจากกรณีของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่มีสัญญาณของสัตว์ปีกป่วยตายก่อนที่จะมีการติดต่อมายังคน จึงถือได้ว่าเชื้อ H7N9 มีความรุนแรงกว่า และคนยังสามารถเป็นพาหะของโรคได้โดยไม่แสดงอาการ โดย WHO พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นเด็กหญิงชาวปักกิ่งที่รอดชีวิตหลังรับประทานยาจีนก่อนการรักษาตามด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ที่มีความไวในการรักษา WHO จึงสันนิษฐานว่า เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ยังตอบสนองต่อยาโอเซลทามิเวียร์อยู่
ประเทศจีน พบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอช 7 เอ็น 9 (H7N9) เพิ่มขึ้นมากกว่า 44 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตทั่วประเทศมากกว่า 11 ราย แม้ว่าทางการจีนพยายามเร่งป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวโดยสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติจีน ประกาศแผนใช้ยาต้านไวรัส “เพอรามิเวียร์” ในฟาร์มสัตว์ปีกทั่วประเทศแล้วก็ตาม สื่อของจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนปรับปรุงมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยในการทำปศุสัตว์ในประเทศ เนื่องจากเห็นว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ในจีนนี้มีสาเหตุมาจากการทำฟาร์มสัตว์ปีกที่มุ่งเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพการผลิต โดยเฉพาะปศุสัตว์ในย่านชานเมืองนครเซี่ยงไฮ้ที่เคยมีกรณีอื้อฉาวจากการมีผู้ทิ้งซากสุกรลงในแม่น้ำเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา
กรุงเทพมหานคร เตรียมการให้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับไข้หวัดนก และเพื่อป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจที่เป็นโรคที่ติดต่อในสุนัขโดยมียุงเป็นพาหะ เมื่อยุงกัดสุนัขที่เป็นโรคจะมีตัวอ่อนพยาธิอยู่ในยุง และเมื่อยุงไปกัดสุนัขตัวอื่น สุนัขตัวนั้นก็จะเป็นโรคดังกล่าว ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นมีการตื่นตัวเก็บข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคพยาธิหนอนหัวใจแล้ว เนื่องจากพบว่ามีการติดต่อโรคนี้จากสุนัขมาสู่คนได้ สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการเตรียมการในการป้องกันและการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมาเคยพบโรคดังกล่าวในคนบ้าง แต่ยังมีการเก็บข้อมูลเฉพาะในส่วนของสุนัขและยังไม่มีแนวทางการดำเนินการในส่วนของคน อย่างไรก็ตามมียารักษาผู้ป่วยและสัตว์ที่เป็นโรคดังกล่าวนี้อยู่แล้ว สุนัขที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการไอแห้ง ๆ ตอนกลางคืน มีบวมน้ำตามตัว เหนื่อย หอบง่าย หากสุนัขมีอาการดังที่ว่านี้ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว ส่วนผู้ป่วยโรคนี้ อาการเบื้องต้นจะมีไข้ ไอ แน่นหน้าอก พบก้อนเนื้อในปอด ขึ้นอยู่กับว่าพยาธิดังกล่าวไปไชอยู่ในอวัยวะส่วนใด ทางที่ดีที่สุดจึงควรป้องกันไม่ให้ยุงกัดสุนัขที่เลี้ยงไว้ใกล้ตัว แล้วนำโรคมาสู่คนหรือเจ้าของได้
สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกยุคใหม่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปของโรคยุคใหม่อย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน
แหล่งอ้างอิง
[1] ทีมข่าวสาธารณสุข ไทยรัฐออนไลน์. ระวัง 13 โรค “อุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ”: ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. [ออนไลน์] 2 มกราคม 2556 05:15 น. [เข้าถึงเมื่อ 7 เมษายน 2556]; http://www.thairath.co.th/content/edu/317187
[2] ไทยรัฐออนไลน์. จีนประกาศใช้ยาต้านหวัดนก: ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. [ออนไลน์] 13 เมษายน 2556 02:45 น. [เข้าถึงเมื่อ 14 เมษายน 2556]; http://www.thairath.co.th/content/oversea/337469
[3] เดลินิวส์ออนไลน์. กทม.ตื่นโรคอุบัติใหม่ ‘พยาธิหนอนหัวใจ’ ติดจากยุงกัดสุนัข ต่างประเทศเฝ้าระวัง กทม.เตรียมรับมือ: ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์. [ออนไลน์] 7 มีนาคม 2556 08:58 น. [เข้าถึงเมื่อ 8 เมษายน 2556]; http://www.dailynews.co.th/bkk/188873
[4] ผู้จัดการออนไลน์. อันตราย! WHO รับหวัดนก H7N9 มีสิทธิ์ติดเชื้อจากคนสู่คน: ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. [ออนไลน์] 26 เมษายน 2556 14:32 น.[เข้าถึงเมื่อ 2 พฤษภาคม 2556]; http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000050244
เอ๋ เอกระวี จินดารักษ์
ผู้รวบรวมข่าวคุณภาพชีวิต
30 เมษายน 2556